ฝ่าความกลัว ท้าความตาย! ถอดสลักหัวใจ 'วีรบุรุษ EOD' ชีวิตสู้ระเบิด

  • 11 พ.ค. 2563
  • 3219
หางาน,สมัครงาน,งาน,ฝ่าความกลัว ท้าความตาย! ถอดสลักหัวใจ 'วีรบุรุษ EOD' ชีวิตสู้ระเบิด

การเก็บกู้วัตถุระเบิดเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย เพราะต้องทำงานกับอาวุธสังหารที่พร้อมจะฆ่าเราได้ทุกเมื่อ ระเบิดแต่ละชนิดก็มีวิธีการเก็บกู้ที่แตกต่างกันออกไป การทำงานแต่ละครั้งนอกจากจะต้องใช้ศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาแล้วยังต้องใช้ศิลป์ในการขบคิดอยู่ตลอด แม้เป็นงานที่อันตรายแต่ด้วยหัวใจของความเป็นทหารพร้อมจะเสี่ยงเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีกว่าของประชาชน การทำงานของเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดจึงจำเป็นต้องข่มความกลัว แสดงความกล้าท้าทาย ความตายที่พร้อมจะพรากเอาชีวิตไปทุกเมื่อ...

หากพูดถึงเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิด ภาพที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ เรามักเห็นเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งที่จำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบเก็บกู้หรือแม้กระทั่งทำลายวัตถุระเบิดเหล่านั้น หน่วยงานนี้มีความเป็นมาอย่างไรและมีวิธีปฏิบัติอย่างไรต่ออันตรายที่อยู่ตรงหน้า วันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พูดคุยกับ พ.อ.ธงชัย บุญณรงค์ อดีตครูฝึกและเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด พร้อมเปิดแง่มุมต่างๆ ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิดในประเทศไทย มุมมองน่าสนใจ ทุกภาคฝ่ายควรติดตาม!

พ.อ.ธงชัย บุญณรงค์

เจ้าหน้าที่ EOD ตรวจหาวัตถุพยานจากระเบิด

อันตราย เสี่ยงตาย! EOD หน้าที่เผชิญภัย แต่ทำไมกำลังพลสอบแข่งแย่งดุเดือด? 
ระเบิดคืออาวุธสังหารที่รุนแรง มีรัศมีการทำลายล้างกระจายเป็นวงกว้าง งานเก็บกู้วัตถุระเบิดจึงเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายมีผลต่อชีวิตของผู้ปฏิบัติงานและคนรอบข้าง จึงจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกกำลังพลเข้ามาศึกษาในหลักสูตร โดยใช้การสอบคัดเลือกทั้งความพร้อมด้านวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกระสุนและวัตถุระเบิดที่มีใช้ทั่วโลก รวมถึงขั้นตอนการกู้ระเบิดเบื้องต้น นอกจากนั้นยังต้องสอบความพร้อมด้านร่างกายอีกด้วย แม้งานเก็บกู้วัตถุระเบิดจะเป็นงานที่อันตรายสูง แต่ยังมีผู้ประสงค์เข้าเรียนหลักสูตรเก็บกู้วัตถุระเบิดในแต่ละรุ่นจนเกินอัตรา

"ในแต่ละครั้งที่เปิดสอบคัดเลือกจะมีกำลังพลมาสอบจำนวนมาก เพราะหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดถ้าจบหลักสูตรและได้บรรจุลงหน่วยจะได้รับเงินพิเศษรายเดือนเป็นค่าฝ่าอันตราย อีกทั้งความเป็นทหาร การที่ได้ประดับเครื่องหมายก็ถือเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตราชการ สำหรับจำนวนนักเรียนแต่ละรุ่นจะจำกัดไว้ที่ 30 คน แต่ว่าทุกครั้งที่มีการเปิดสอบเราต้องคัดคนออกตลอดเพราะว่ามีคนมาสมัครเยอะ”

พ.อ.ธงชัย บุญณรงค์ อดีตครูฝึกและเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด

“เมื่อก่อนหลักสูตรเก็บกู้วัตถุระเบิดใช้ระยะเวลาฝึก 3 เดือนก็สามารถบรรจุลงตามหน่วยได้ แต่ปัจจุบันมีวิชาที่เกี่ยวข้องกับระเบิดแสวงเครื่องเข้ามา จึงต้องเรียนให้หนักขึ้นโดยเพิ่มระยะเวลาเป็น 4 เดือน"

หลังจากฝึกเสร็จแล้วก็จะถูกบรรจุลงในหน่วยทำลายวัตถุระเบิดตามกองทัพภาคต่างๆ แต่สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีการลอบวางระเบิดมากเป็นพื้นที่พิเศษ จึงต้องตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมาเพิ่มเติมจากหน่วยงานเดิมที่มีอยู่ "ชื่อว่าชุดเฉพาะกิจอโณทัย" ซึ่งตัว พ.อ.ธงชัย เคยทำงานกับชุดเฉพาะกิจนี้ในปี 2551 - 2552

ความเสียหายจากระเบิดแสวงเครื่องที่ถูกฝังไว้ในถนน

เจ้าหน้าที่ EOD ตรวจสอบปากหลุมระเบิด

เรื่องเล่าเสี่ยงตาย วีรบุรุษ EOD!
ในชีวิตราชการของหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด ต้องคลุกคลีกับวัตถุอันตรายตลอดเวลา เมื่อมีเหตุการณ์ร้าย ก็ต้องเป็นหน่วยเข้าไปในที่เกิดเหตุอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าระเบิดนั้นจะเป็นเพียงแค่ลูกเดียวหรือระเบิดทั้งคลังแสง เจ้าหน้าที่ก็ต้องพร้อมที่จะเข้าไปกู้สถานการณ์ได้ทุกเมื่อ คำว่า “ทำงานสำเร็จ” มีอยู่สองประเภทคือ “สำเร็จแบบมีชีวิต” หรือ “สำเร็จแบบไร้ซึ่งลมหายใจ”

“สำหรับเหตุการณ์ที่จำได้ไม่มีวันลืมคือเมื่อครั้งจบหลักสูตรมาจากสหรัฐอเมริกาใหม่ๆ เกิดเหตุคลังแสงระเบิดที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ตอนนั้นพอได้รับแจ้งก็รีบเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปที่เกิดเหตุทันที พอไปถึงภาพที่เห็นมันรุนแรงมาก อีกทั้งเวลานั้นก็เย็นมากแล้ว จึงต้องประชุมกันว่าจะดำเนินการอย่างไร ก็สรุปความเห็นได้ว่าจะแบ่งเป็นสองทีม ให้ทีมแรกเก็บรอบๆ ที่เกิดเหตุก่อน ส่วนอีกทีมให้ไปเก็บตามบ้านเรือนประชาชน ส่วนในตัวคลังแสงยังไม่สามารถเข้าไปได้ เนื่องจากมีวัตถุระเบิดจำนวนมากและเกิดการระเบิดที่รุนแรงต่อเนื่อง เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์คลังแสงระเบิดรุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ผมเองได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดแม้จะมีความกลัวอยู่บ้าง แต่ด้วยความที่เป็นหัวหน้าจะแสดงออกถึงความกลัวให้ลูกน้องเสียขวัญไม่ได้”

หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด หากจบหลักสูตรและได้บรรจุลงหน่วย และได้รับเงินพิเศษรายเดือนเป็นค่าฝ่าอันตราย

ระเบิดแสวงเครื่องดัดแปลงจากถังดับเพลิงที่ผู้ก่อความไม่สงบใช้ในสามจังหวัดชายแดนใต้

“อีกเหตุการณ์หนึ่งคือโรงงานผลิตอาวุธของกรมสรรพาวุธระเบิด ตอนนั้นผมเป็นลูกทีมที่เข้าไปเก็บกู้ ทีมหนึ่งคอยทำงานที่จุดเกิดเหตุอีกทีมต้องขนย้ายหัวจรวดบางส่วนไปทำลายทิ้งที่ราชบุรี ทีมที่ขนย้ายระเบิดไปทำลายทิ้งเกิดผิดพลาดระหว่างขนย้ายหัวจรวดลงหลุมทำลายจนเกิดเหตุระเบิดขึ้นและมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต ผมอยู่ที่กรุงเทพฯ พอได้ข่าวก็เกิดหดหู่ใจอยู่ไม่น้อย แต่คนที่อยู่ก็ต้องทำงานต่อไป”

“สูญเสียก่อนถึงได้มา...” อุปกรณ์กู้ชีวิต แลกชีวิต 
"ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องทำงานเป็นระบบมาก ต้องทำงานร่วมกับหน่วยอื่นทั้งทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง และหน่วยงานอื่นๆ มีการประสานงานและพูดคุยกันตลอด สำหรับหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดจะต้องแจ้งเตือนให้กับคนอื่นๆ ทราบว่าบริเวณที่ปฏิบัติภารกิจอยู่นั้นปลอดภัยจากแรงระเบิดหรือไม่ ก่อนจะทำการเก็บกู้ นอกจากนี้ต้องคอยระวังการถูกลอบโจมตีอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องทำตามระเบียบปฏิบัติอย่างเคร่งครัด"

ซากรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังโดนระเบิด

งานเก็บกู้วัตถุระเบิดแต่ละครั้งต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่พร้อมใช้งานเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นเพราะถ้าเกิดอะไรผิดพลาดอย่างน้อยๆ จะได้ผ่อนหนักให้เป็นเบา การเก็บกู้แต่ละครั้งไม่ว่าระเบิดจะลูกเล็กหรือลูกใหญ่จำเป็นต้องใส่ "Bomb Suit" ทุกครั้ง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยจะมีความพร้อมด้านอุปกรณ์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับความต้องการ

“ชุด Bomb Suit หากต้องเข้าใกล้ระเบิดมากๆ ก็จำเป็นต้องใส่ สำหรับในสามจังหวัดชายแดนใต้แม้จะมีชุดเยอะแต่ก็ยังไม่เพียงพอ การได้มาซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้บางทีก็ต้องเกิดการสูญเสียก่อนถึงจะได้มา คนที่ตายไปส่วนมากก็เป็นลูกศิษย์ผมทั้งนั้น”

ความกลัว คือ สูตรเด็ด EOD!
การลอบวางระเบิดแน่นอนว่าคือการกระทำที่ไม่ประสงค์ดี ผู้ร้ายจะใช้วิธีการต่างๆ เช่น การอำพราง หรือลวงให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในที่เกิดเหตุก่อนจะกดระเบิดลูกอื่นที่ซ่อนไว้ ฉะนั้นแต่ละครั้งมันมีความเสี่ยงที่จะเกิดการสูญเสียได้ ดังนั้น เจ้าหน้าที่จำเป็นจะต้องรอบคอบ

“เวลาจะกู้ระเบิดแต่ละครั้งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยไว้ก่อน ประเมินสถานการณ์เป็นลำดับ ระยะไหนสามารถกู้ได้ให้ทำการกู้ ประเมินตั้งแต่ระยะไกลมีเครื่องมืออะไรกู้ได้ให้ทำไปเลย ถ้าไม่มีก็ดูระยะกลางว่าสามารถกู้ได้ไหมจนถึงขั้นสุดท้ายที่ต้องใช้มือในการเก็บกู้ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องเคลื่อนย้ายไปทำลายที่อื่น ที่สำคัญคือการทำงานทุกครั้งต้องมีความกลัวเพราะความกลัวจะทำให้เราระมัดระวังตัวตลอดเวลา”

หลุมระเบิดที่เกิดขึ้นจากระเบิดขนาดใหญ่

เจาะจุดอ่อน EOD 
วงการเก็บกู้วัตถุระเบิดของประเทศไทยมีความก้าวหน้าเกือบจะถึงจุดสูงสุด เพราะเรามีการพัฒนาที่ต่อเนื่องทั้งด้านองค์วิชาความรู้และเครื่องมือที่มีใช้อยู่ถือว่ามีความพร้อมในระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือตัวเจ้าหน้าที่เองควรมีระเบียบปฏิบัติให้เหมือนกันและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความร่วมมือด้วยเพื่อสร้างมาตรฐานในการทำงาน

“เวลาปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่มักจะเจอปัญหาคล้ายๆ กัน คือหัวหน้าชุดที่ไปในที่เกิดเหตุบางครั้งมียศไม่เกินร้อยเอก พอมีเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นๆ ที่ยศใหญ่กว่าอยากเข้ามาดูจุดเกิดเหตุพอเข้ามาแล้วผู้ติดตามก็เข้ามาด้วย หลักฐานต่างๆ จึงเคลื่อนย้ายสูญหายไป เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ก็ไม่กล้าห้ามปรามทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ควรให้เข้ามาแต่ก็ไม่กล้าพูด”

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบระเบิดแสวงเครื่องดัดแปลงจากถังแก๊สหุงต้ม

“เหตุระเบิดแต่ละครั้งมักจะถูกเจ้านายกดดัน คือเจ้านายเขาอยากรู้ว่าระเบิดมันเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงให้หน่วยเก็บกู้เข้าไปดูสถานที่เกิดเหตุ ทั้งที่บางครั้งพื้นที่ยังไม่ปลอดภัย ลักษณะแบบนี้เป็นอันตรายกับเจ้าหน้าที่ ถ้าเราสร้างมาตรฐานในการทำงานและคนอื่นๆ ปฏิบัติตาม เชื่อว่าหน่วยงานเก็บกู้วัตถุระเบิดของไทยจะพัฒนาไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่” พ.อ.ธงชัย กล่าวชี้แนะจากประสบการณ์ร้ายดีที่ผ่านมา.

*หมายเหตุ : ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top