สมเด็จพระเทพฯ ห่วงภัยแล้ง ทรงแนะปรับตัว เปลี่ยนปฏิทินเพาะปลูกตามสภาพอากาศ เลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ มั่นใจ 543 หมู่บ้านทั่วประเทศน้อมนำ แนวพระราชดำริจัดการน้ำชุมชนผ่าน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ” รับมือได้ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม
น้ำพระทัยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงปัญหาภัยธรรมชาตินั้น เมื่อวันที่ 12 ม.ค. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปี พ.ศ.2559 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ อาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมีนายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯและผู้เกี่ยวข้องเฝ้ารับเสด็จ โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นำผู้มีจิตศรัทธาบริจาค และผู้สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ จำนวน 56 คน เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานเข็มที่ระลึกของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ จากนั้นทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปี พ.ศ.2559 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช กุมารี ทรงมีรับสั่งตอนหนึ่งว่า ปี 2559 มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯจะร่วมกับ 60 ชุมชนแกนนำในพื้นที่ 19 ลุ่มน้ำ สร้างตัวอย่างการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริแบบพึ่งตนเองโดยใช้ข้อมูล สมดุลน้ำ บริหารจัดการน้ำปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน สร้างความมั่นคงด้านน้ำ ด้านผลผลิต อาหารและชีวิตความเป็นอยู่ นอกจากนี้ จะร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วน เน้นการ “เทิด ด้วย ทำ” เรียนรู้สู่การลงมือทำตามแนวพระราชดำริ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริไปร่วมกันฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมรวมถึงสร้างเยาวชน “เทิด ด้วย ทำ” รุ่นต่อไป ให้ได้เรียนรู้แนวพระราชดำริและลงมือทำเพื่อรักษาทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขอเชิญประชาชนและจิตอาสาที่พร้อม “เทิด ด้วย ทำ” มาร่วมเริ่มต้นลงมือทำด้วยกัน ในวันที่ 14 ก.พ. ณ บริเวณสนามเสือป่าในงาน “อย่าให้รักพ่อ เป็นแค่ความคิดมาร่วมลงมือทำกับเรา เทิด ด้วย ทำ”
ด้านนายรอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ กล่าวว่า มูลนิธิฯได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ในการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าเผยแพร่ และสนับสนุนให้ชุมชนสามารถดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำแบบพึ่งตนเอง น้อมนำหลักการทรงงาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ไปเผยแพร่ให้แต่ละชุมชนเข้าใจถึงหลักการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เน้นการพัฒนาจากล่างขึ้นมาข้างบน จากชุมชนเล็กๆขยายสู่ระดับตำบลและอำเภอ โดยถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ ความสำเร็จของชุมชนต่างๆ ผ่านพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เพื่อขยายผลความสำเร็จออกสู่สาธารณะและจะร่วมกับ 60 ชุมชนแกนนำ ในพื้นที่ 19 ลุ่มน้ำ ขยายผลสู่ 543 หมู่บ้าน สามารถบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง ประมาณ 364,600 ครัวเรือน พื้นที่เกษตร 1.60 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำสำรองเพิ่มขึ้นสำหรับใช้ยามฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้ง รวม 54.16 ล้านลูกบาศก์เมตร จากภัยแล้งปี 2557 ถึง 2558 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ 24 ชุมชนแกนนำที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ยังคงมีน้ำสำหรับใช้ทำการเกษตร สร้างรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรกว่า 1,300 ล้านบาทในปี 2559
“มั่นใจว่า ทั้ง 543 หมู่บ้าน มีระบบบริหารจัดการน้ำที่เราเข้าไปทำงานด้วยมานั้น จะรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2559 และในอนาคตข้างหน้าได้โดยไม่เดือดร้อนมากนัก เพราะมีระบบการจัดการพื้นที่ที่ดี ไม่เพียงแต่รับมือเรื่องภัยแล้งได้เท่านั้น แต่จะสามารถรับมือกับความผันแปรของฤดูกาลได้อย่างดี หลักการที่ดำเนินการก็คือ การจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริแบบพึ่งตนเอง โดยใช้ข้อมูลสมดุลน้ำบริหารจัดการน้ำ ปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายรอยลกล่าว
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved
jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด