หอการค้าเผยผลสำรวจ พบคนไทยติดหนี้นอกระบบมากสุดในรอบ 8 ปี เหตุขาดสภาพคล่องทางการเงิน รายได้ไม่พอรายจ่าย แนะควรปรับเงินเดือนขึ้นเป็น 350 บาท ตามค่าครองชีพในปัจจุบัน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 1,212 ตัวอย่าง ว่า ขณะนี้ปริมาณแรงงานไทยมีภาระหนี้สินถึง 95.9% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา โดยมีหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 119,061 บาท แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 39.38% มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 8.43% ต่อปี และเป็นหนี้นอกระบบ 60.62% ซึ่งหนี้นอกระบบเป็นสัดส่วนสูงสุดในรอบ 8 ปี และ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 12.5% ต่อเดือน ส่วนใหญ่กู้เพื่อนำเงินเป็นค่าใช้จ่ายประจำวันมากที่สุด รองลงมาซื้อยานพาหนะ และกู้มาเพื่อใช้เงินกู้เดิม เป็นต้น
ทั้งนี้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แรงงานเคยผิดนัดชำระหนี้สูงถึง 83.5% เนื่องจากเงินไม่พอจ่ายและหมุนเงินไม่ทัน เพราะ สถานภาพทางการเงินของแรงงาน อย่างก็ตามแนวทางในการแก้ปัญหาในการนำเงินมาชำระหนี้คือกู้เงินนอกระบบ รองลงมาเป็นการขาย/จำนำสินทรัพย์ที่มี และนำเงินออมออกมาใช้ เป็นต้น
"สถานภาพแรงงานไทยแย่สุดในรอบ 8 ปี เพราะส่วนใหญ่มีปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องหันไปพึ่งการกู้นอกระบบ ส่งผลให้การกู้หนี้นอกระบบมีสัดส่วนการขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้นเกินครึ่งของการกู้ทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะจะสะท้อนกลับมายังความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แม้ว่าภาระหนี้ของแรงงานไทยจะรวมกันแล้วมีมูลค่ายังไม่สูงนักเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้า การลงทุนของภาคธุรกิจ แต่ก็เสี่ยงที่จะทำให้แรงงานกลุ่มติดอยู่ในวังวนของการกู้หนี้นอกระบบได้" นายธนวรรธน์ฯ กล่าว
ขณะเดียวกัน เมื่อถามถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ณ ปัจจุบัน วันละ 300 บาท ส่วนใหญ่ 95.7% ตอบว่าเป็นอัตราที่สมควร อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้ 60.6% เห็นว่าควรปรับขึ้นตามภาวะค่าครองชีพตามกลไกตลาดที่แท้จริง, 26.8% เห็นว่าควรปรับขึ้นทุกปี และ 12.6% ปรับขึ้น 2 ปีต่อครั้ง ส่วนอัตราที่ควรปรับเพิ่มขึ้น ควรอยู่ที่วันละ 356.76 บาท อีกด้วย
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved
jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด