ฮาร์วาร์ดเผย 4 สาเหตุ ทำพนักงานลาออก แม้เงินดีก็ไม่พอ

  • 25 ก.พ. 2568
  • 82
หางาน,สมัครงาน,งาน,ฮาร์วาร์ดเผย 4 สาเหตุ ทำพนักงานลาออก แม้เงินดีก็ไม่พอ

 

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘การลาออกครั้งใหญ่’ หรือ Great Resignation โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ที่คนจำนวนมากเลือกลาออกจากงาน ในปี 2022 มีคนอเมริกันกว่า 4.5 ล้านคนตัดสินใจลาออก และตัวเลขยังสูงต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคม 2024 มีคนลาออกเพิ่มอีก 3.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 3% ของกำลังแรงงานทั้งหมด

 

หลายคนอาจคิดว่าสาเหตุเป็นเพราะเงินเดือนไม่พอ ชั่วโมงทำงานหนัก หรือสวัสดิการไม่ดี แต่จากผลการวิจัยนำโดย Michael B. Horn จากคณะศึกษาศาสตร์ Harvard University, Ethan Bernstein อาจารย์จาก Harvard Business School และ Robert Moesta ซีอีโอบริษัท The Re-Wired Group ซึ่งใช้เวลากว่า 10 ปีในการสัมภาษณ์และศึกษาคนทำงานตั้งแต่ซีอีโอบริษัทใน Fortune 500 ไปจนถึงผู้จัดการครัวของ Chipotle กว่า 1,000 คน บอกว่า ไม่ใช่ เหตุผลเหล่านี้เลย จริงๆ แล้ว คนลาออกเพราะปัจจัยที่ลึกซึ้งกว่านั้น เช่น ขาดโอกาสเติบโตในสายงาน รู้สึกว่าวัฒนธรรมองค์กรไม่เหมาะสม หรือไม่สามารถหาความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานได้

 

คนทำงานยุคนี้ต้องการมากกว่าแค่ “เงินเดือน” พวกเขาอยากทำงานที่ให้ความรู้สึกมีความหมาย สอดคล้องกับเป้าหมายในชีวิต และช่วยให้ตัวเองพัฒนาได้มากขึ้น นี่คือสัญญาณที่บอกว่าความคาดหวังของพนักงานกำลังเปลี่ยนไป โดยงานวิจัยได้ระบุ 4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนตัดสินใจลาออก ดังนี้…

 

1️. “หนีออกจากสภาพแวดล้อมเชิงลบ” คือเหตุผลที่ทำให้พนักงานลาออก เมื่อพวกเขารู้สึกติดอยู่ในงานที่ไม่มีอนาคต หรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่ทำให้รู้สึกหมดแรง ความกดดันที่สูงและวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ดี ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออก

 

2️. “ต้องการควบคุมชีวิตตัวเอง” คือสาเหตุที่ทำให้พนักงานมองหางานที่มีความยืดหยุ่น สามารถคาดการณ์ได้ และให้อิสระในการทำงาน โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิดที่หลายคนได้เห็นว่าการทำงานแบบยืดหยุ่นสามารถทำได้จริงและมีประสิทธิภาพ จึงทำให้พนักงานเริ่มเรียกร้องสิทธิในการจัดการเวลาและวิธีการทำงานของตัวเองมากขึ้น

 

3️. “ปรับให้ตรงกับจุดแข็ง” คือเหตุผลที่พนักงานมองหางานใหม่เมื่อรู้สึกว่าทักษะและความสามารถของตัวเองไม่ได้รับการยอมรับหรือไม่ได้ถูกใช้เต็มที่ พวกเขาจึงมองหาองค์กรที่เห็นคุณค่าและให้โอกาสในการใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ รวมถึงการได้ทำงานที่ท้าทายและมีความหมายมากขึ้น

 

4️. “ก้าวไปข้างหน้า” คือเหตุผลที่ทำให้พนักงานมองหาโอกาสใหม่ๆ เมื่อชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เรียนจบ แต่งงาน มีลูก หรือกำลังวางแผนซื้อบ้าน พวกเขามองหางานที่มีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีกว่า รวมถึงเส้นทางการเติบโตในอาชีพที่ตรงกับเป้าหมายชีวิตที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงในชีวิตส่วนตัวมักเป็นตัวกระตุ้นให้พนักงานตัดสินใจมองหาทางเลือกใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์และความต้องการในตอนนั้น

 

งานที่ดีคืองานใหม่จริงมั้ย

เพราะ Horn ยังเผยอีกว่า หลายคนก็ไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ตัวเองลาออก แม้จะยื่นใบลาออกไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นแค่การกระทำไปด้วยความรู้สึก ‘สู้หรือหนี’ จากความเหนื่อยล้า หัวหน้าที่ไม่ดี หรือการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี แต่ถ้าพวกเขายังไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะพบปัญหาคล้ายๆ กันในงานใหม่ และอาจจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ดีเหมือนเดิมอีกครั้ง

 

ทีมวิจัยแนะนำว่า องค์กรควรสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้างให้พนักงานได้พูดคุยเกี่ยวกับแรงจูงใจในการทำงาน และปัจจัยที่อาจทำให้พวกเขาตัดสินใจลาออกในอนาคต ผ่านการพูดคุยกับหัวหน้าอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงในช่วงประเมินผลงานประจำปี เพราะการเชื่อมโยงเป้าหมายส่วนตัวของพนักงานกับหน้าที่ความรับผิดชอบในที่ทำงานจะช่วยเพิ่มความผูกพันและประสิทธิภาพในการทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย

 

เริ่มต้นให้ดี ดีกว่าต้องตามแก้ปัญหาทีหลัง

แม้ว่าผู้บริหารและฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะรู้ถึงปัญหานี้ แต่บางครั้งกลับไม่ให้ความสำคัญตั้งแต่แรก เช่น การต้อนรับพนักงานที่เข้ามาใหม่หรือเมื่อสังเกตเห็นสัญญาณของความไม่พอใจ Horn บอกว่า ถ้าองค์กรเข้าใจแรงจูงใจและสิ่งที่ทำให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วมตั้งแต่แรก จะช่วยให้สามารถสนับสนุนและรักษาพนักงานได้ดียิ่งขึ้น

 

ในโลกของการทำงานปัจจุบัน แม้ว่าเงินเดือนและสวัสดิการจะดี แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับองค์กรและทำงานอย่างเต็มที่ ถ้างานที่ทำไม่ได้ทำให้พนักงานรู้สึกว่ามีความหมายหรือมีคุณค่า ถ้าองค์กรไม่ได้สร้างการสนับสนุนในการมีส่วนร่วมของพนักงาน แม้จะได้รับเงินดีแค่ไหนก็ไม่พอที่จะสามารถทำให้พนักงานรู้สึกอยากจะทำงานให้กับองค์กรในระยะยาว

 

นอกจากนี้ การได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้าและการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานก็ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและความทุ่มเทกับการทำงาน การรู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมและองค์กรจะทำให้มีแรงผลักดันในการทำงานมากขึ้น และโอกาสในการเติบโตและพัฒนาในเส้นทางอาชีพที่สอดคล้องกับความสามารถและความฝันของพวกเขาก็เป็นสิ่งสำคัญ

 

ดังนั้น ถ้าองค์กรต้องการให้พนักงานทุ่มเทกับการทำงานและอยู่กับองค์กรไปนานๆ ควรให้ความสำคัญกับการสร้างความหมายในการทำงาน การมองเห็นคุณค่าในผลงาน ความไว้วางใจ และโอกาสในการเติบโต เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้พนักงานรู้สึกมีค่าและไม่อยากลาออกจากองค์กร

 

เพราะ “แม้ว่าเงินจะซื้อเวลาของพนักงานได้ แต่ไม่สามารถซื้อใจและความทุ่มเทได้จริงๆ”

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆ

จาก : https://thestandard.co/harvard-study-why-people-quit-jobs/

 

สอบถามเพิ่มเติมสำหรับ HR 

อีเมล : hrbuddybyjobbkk@gmail.com

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top