ตีโจทย์ “พระกราบแม่ผิดไหม?” วิเคราะห์คำต่อคำ กราบพระคุณ หรือ กราบร่างกาย?

  • 11 พ.ค. 2563
  • 5297
หางาน,สมัครงาน,งาน,ตีโจทย์ “พระกราบแม่ผิดไหม?” วิเคราะห์คำต่อคำ กราบพระคุณ หรือ กราบร่างกาย?

เมื่อช่วงวันแม่ที่ผ่านมานั้น ได้มีการแชร์ภาพพระภิกษุรูปหนึ่งก้มลงกราบเท้าแม่ จนเป็นที่ถกเถียงเป็นวงกว้างของคนในสังคมว่า เมื่อบวชเป็นพระแล้ว สามารถก้มลงไปกราบเท้าแม่ได้หรือไม่ บ้างก็บอกว่า ไม่เหมาะสมเพราะต้องดำรงตนอยู่ในพระธรรมวินัย บ้างก็บอกว่าเป็นความกตัญญูของลูกที่กราบเท้าผู้ให้กำเนิด ท้ายที่สุดแล้ว ข้อสรุปในเรื่องนี้จะเป็นเช่นไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอเสาะแสวงหาคำตอบมาให้ผู้อ่านได้ทราบกัน...

รูปที่เป็นต้นเหตุแห่งการถกเถียงกันในโลกโซเชียล

คำตอบจากสำนักพุทธฯ : กราบแม่เข้าข่ายอาบัติ
ทีมข่าวถามถึงข้อข้องใจซึ่งตกเป็นที่ถกเถียงของสังคม กรณีพระภิกษุกราบพ่อแม่ของท่านเองได้หรือไม่? นายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตอบคำถามในเรื่องนี้ว่า สำหรับพระภิกษุนั้น เป็นเพศบรรพชิตหรือเพศนักบวช คือ ผู้สละหมดสิ้นแล้วทุกอย่าง ซึ่งผู้ที่จะบวชในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสละวงศาคณาญาติ อาคารบ้านเรือน ละกองแห่งโภคสมบัติทั้งหลายทั้งปวงแล้ว เพื่ออบรมเจริญปัญญา และขัดเกลากิเลสตัวเองจนกว่าจะดับไป

โดยพระไตรปิฎก เล่มที่ 7 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 บุคคล 3 จำพวกที่ภิกษุควรไหว้ คือ 1. ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทก่อน 2. ภิกษุควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่เป็นธรรมวาที และ 3. ภิกษุควรไหว้ตถาคตผู้อรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ในโลกทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์

ขณะที่ พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม 7 ภาค 2 หน้าที่ 136 มีการระบุบุคคลที่พระไม่ควรไหว้ 10 จำพวก หากไหว้บุคคลดังกล่าว ถือว่าเข้าข่ายอาบัติ ดังนี้ 1. ภิกษุที่อุปสมบทภายหลัง 2. อนุปสัมบัน บุคคลที่ไม่ได้เป็นภิกษุ หมายถึง สามเณรและคฤหัสถ์ 3. ภิกษุนานาสังวาส (ความต่างกันของศีล) ผู้แก่กว่า แต่ไม่ใช่ธรรมวาที 4. มาตุคาม (ผู้หญิง เพศหญิง) 5.บันเฑาะก์ (กะเทย) 6. ภิกษุผู้อยู่ปริวาส 7. ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม 8. ภิกษุผู้ควรมานัต (วินัยกรรมที่สงฆ์ทําแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสให้เป็นภิกษุที่นับเข้าในหมู่สงฆ์ได้) 9. ภิกษุผู้ประพฤติมานัต และ 10. ภิกษุผู้ควรอัพภาน (การชักกลับมา ในวินัยหมายถึง การรับภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส และได้ถูกทําโทษคือ อยู่ปริวาสแล้วให้กลับคืนเป็นผู้บริสุทธิ์ การสวดประกาศเรื่องนี้ เรียกว่า สวดอัพภาน)

พระกราบแม่ เหมาะสมหรือไม่?

“เพราะฉะนั้น หากถามว่า พระภิกษุสามารถกราบไหว้ท่านเองได้หรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า จากคน 10 จำพวกที่ภิกษุไม่ควรกราบไหว้นั้น ผู้เป็นแม่จะอยู่ในข้อมาตุคาม คือ เพศหญิง หากไหว้แล้วถือว่าเข้าข่ายอาบัติ” ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ชี้ชัด

ทีมข่าวส่งคำถามในอีกแง่หนึ่งว่า กรณีที่พระภิกษุดูแลปรนนิบัติผู้เป็นแม่ในยามป่วยไข้ แล้วมีความจำเป็นที่จะต้องสัมผัสร่างกายผู้เป็นแม่ เพื่อช่วยเหลือพิษเจ็บป่วยให้ทุเลาเบาบาง กรณีเช่นนี้สามารถทำได้หรือไม่? ผอ.สำนักงานพระพุทธฯ แจงว่า “อันที่จริงแล้ว ตามหลักศาสนานั้น กรณีเช่นนี้นับว่าไม่เหมาะไม่ควร แต่ท่านก็ต้องทำ เราจึงไม่อยากไปวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่พระท่านต้องทำ ซึ่งเราก็ต้องเห็นใจท่านด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เพศบรรพชิตหรือเพศนักบวช สละอะไรหลายอย่างมากกว่าคฤหัสถ์ โดยที่เพศคฤหัสถ์ เป็นเพศที่ยังครองเรือนและเต็มไปด้วยกิเลสทั้งปวง เพราะฉะนั้น เพศบรรพชิตจึงไม่ควรกราบไหว้ แม้เพศคฤหัสถ์จะเป็นบิดามารดาก็ตาม

ดูแลร่างกายแม่ยามท่านเจ็บป่วย

คำตอบจากภิกษุหัวก้าวหน้า : พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่า การกราบแม่เป็นความกตัญญู
ด้าน พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ แห่งวัดสร้อยทอง เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ถึงเรื่องนี้ว่า ก่อนอื่นต้องตั้งคำถามก่อนว่าการถกเถียงนั้นจะถกเถียงในบริบทของลูก หรือบริบทของพระภิกษุ ซึ่งการมีความกตัญญูนั้นไม่ผิด แต่พระภิกษุ ถือเป็นบุตรของพระสมณะโคดม เป็นเชื้อสายของพระศากยะ เป็นคนของสังฆะแล้ว ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ ยึดถือพระวินัย ไม่ใช่เป็นฆราวาสทั่วไป ซึ่งพระพุทธเจ้า ได้บัญญัติเอาไว้ว่า ไม่ให้พระภิกษุสงฆ์กราบไหว้มาตุคาม (ผู้หญิง) รวมถึงมารดาด้วย เนื่องจากก่อนบวช เมื่อครั้งที่ยังเป็นนาค ได้มีการทำพิธีกรรมขอขมาลาโทษ ล้างเท้าให้พ่อแม่เสร็จแล้ว เมื่อบวชจะทำเช่นนี้ไม่ได้ การอ้างความเป็นลูกมากราบเท้าพ่อแม่ ทั้งที่อยู่ในสมณเพศไม่ได้

เมื่อทีมข่าวฯ ถามว่า หากเป็นกรณีที่พระภิกษุสงฆ์เข้าไปดูแลช่วยเหลือแตะเนื้อต้องตัวแม่หรือเข้าไปประคองเมื่อท่านเจ็บป่วย ชรา ถือว่าเป็นความผิดด้วยหรือไม่ พระมหาไพรวัลย์ ให้คำตอบว่า ตามหลักพุทธศาสนาถือว่าเป็นอาบัติทุกกฎ แต่พระต้องเลือกว่าจะทำหน้าที่ใด จะเลือกผิดศีลหรือกตัญญู ซึ่งพระพุทธเจ้าบอกว่า เป็นอาบัติเล็กน้อยที่สุดของพระ เพราะเป็นการทำหน้าที่เมื่อจำเป็น เมื่อท่านต้องการความช่วยเหลือ

การกตัญญูมีหลากหลายวิธี

“อาตมาคิดว่าพระตามกระแสชาวบ้านมากไปหรือเปล่า ทำไมจึงต้องยึดว่าการกราบเท้าพ่อแม่เป็นการกตัญญู ทั้งที่พระพุทธเจ้าได้บอกไว้ว่า กตัญญูทำได้หลายวิธี ทั้งการให้อามิสสิ่งของ อนุญาตให้พระอุปัฏฐากดูแลมารดาบิดาได้ อนุญาตให้นำมารดาบิดาที่เจ็บป่วยมาดูแลในวัดได้ ให้บิณฑบาตที่พระยังไม่ฉันกับพ่อแม่ได้ โดยไม่ถือเป็นความผิด นี่ต่างหากคือสิ่งที่พระทำได้และควรทำ พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญการเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่ท่านไม่ได้บอกว่าการกราบแม่เป็นความกตัญญู” พระมหาไพรวัลย์ อธิบายอย่างชัดเจน

พระราชวิจิตรปฏิภาณ

คำตอบสวนทางจากพระนักเทศน์ชื่อดัง : กราบพระคุณแม่ มิใช่กราบร่างกายแม่
ในทางกลับกัน พระราชวิจิตรปฏิภาณ (เจ้าคุณพิพิธ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามฯ อธิบายต่างมุมว่า ปกติแล้วการกราบบูชาพระคุณพ่อแม่เป็นกิจของลูกทุกคน สำหรับแม่ผู้เป็นคฤหัสถ์ ถ้ากราบบูชาพระคุณถือว่าทำได้ แต่ถ้ากราบที่ตัว ที่ตัก ที่มือ ที่เท้า กราบไม่ได้ การบูชาพระคุณแม่ถือเป็นความสำนึกที่ลึกซึ้ง ในการบวชก็บวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถเข้าไปกอดแม่ได้ พระท่านก็นำเครื่องดอกไม้ไปกราบพระคุณแม่

บางครั้งจำเป็นที่จะต้องอาบัติ เพื่อช่วยเหลือผู้มีพระคุณ

ส่วนกรณีที่พระสามารถกราบได้อย่างที่สอง คือ เมื่อแม่จากไปแล้ว การตั้งศพแม่พระสามารถกราบศพแม่ได้ เพราะแม่ไม่มีวิญญาณ เป็นธาตุเจดีย์ และกรณีที่สาม เมื่อเก็บกระดูกแม่ พระท่านสามารถนำดอกไม้ไปกราบกระดูกแม่ได้ ฉะนั้น การกราบพระคุณ ในตัวของผู้มีพระคุณนั้นไม่ผิด เป็นการกราบที่พระคุณของแม่ ไม่ใช่ร่างกายของแม่ หากจะถือว่าเป็นอาบัติของสงฆ์ก็ถือว่าเป็นอาบัติเล็กน้อย แต่จะเป็นคุณธรรมสูงกว่า เมื่อกลับไปวัดพระท่านก็สามารถปลงอาบัติได้

“ขอให้มองดูความกตัญญูของพระท่าน อย่าไปปรับโทษปรับอาบัติพระ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นโลกะวัชชะ หรือโลกติเตียน สังคมตำหนิบั่นทอนอกตัญญูของมนุษย์ เราจะเอาท่านถึงวิบัติเลยหรือ” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามฯ ให้ความเห็น

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top