กรมการแพทย์เผยคนไทยกระดูกพรุนมากขึ้น เสี่ยงพิการ

  • 11 พ.ค. 2563
  • 4712
หางาน,สมัครงาน,งาน,กรมการแพทย์เผยคนไทยกระดูกพรุนมากขึ้น เสี่ยงพิการ

 

กรมการแพทย์ เผยคนไทยเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้น เสี่ยงกระดูกแตกหัก เป็นโรคเรื้อรัง และพิการ แนะดื่มนม ออกกำลังกาย สัมผัสแดดตอนเช้า ช่วยเพิ่มความแข็งแรงมวลกระดูก หากพบอาการผิดปกติควรพบแพทย์โดยเร็ว

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วิวัฒนาการทางการแพทย์ปัจจุบันส่งผลให้ประชาชนมีอายุยืนยาวขึ้น กลุ่มคนเหล่านี้มักประสบปัญหาด้านความเสื่อมถอยของร่างกายตามมา โดยเฉพาะกระดูกที่เป็นโครงสร้างยึดเกาะกล้ามเนื้อ ช่วยให้ร่างกายคงรูปร่างได้ตามปกติ ซึ่งหากเนื้อกระดูกมีความหนาแน่นลดลงจากการสูญเสียมวลกระดูก จะส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ ซึ่งอันตรายของภาวะกระดูกพรุนนอกจากจะต้องระวังการแตกหักของกระดูกบริเวณอวัยวะต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมา คือ ภาวะกระดูกหักซ้ำ เช่น บริเวณสะโพก ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดเรื้อรังและรุนแรงถึงขั้นพิการ

“ภาวะกระดูกพรุนมักเกิดกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสตรีที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ส่วนผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วใน 5 ปีแรก ทำให้กระดูกหักได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ ทำให้เกิดปัญหาการเดินและการเคลื่อนไหวร่างกาย อาการของภาวะกระดูกพรุนจะไม่จำเพาะจนกว่าจะมีกระดูกหักเกิดขึ้น อาการที่อาจพบ คือ ปวดหลัง ตำแหน่งที่ปวดไม่ชัดเจนและอาจปวดร้าวไปข้างใดข้างหนึ่ง กระดูกหลังยุบตัว หลังค่อม ความสูงลดลงซึ่งหากพบความผิดปกติดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ทันที หากได้รับการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะมีแนวทางรักษาที่เหมาะสม ห้ามผู้ป่วยซื้อยามารับประทานเอง เพราะตัวยาอาจมีส่วนประกอบของสารสเตียรอยด์ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนมากยิ่งขึ้น” นพ.สุพรรณ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.สุพรรณ ยังแนะนำว่า ควรเสริมสร้างเนื้อกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่ในวัยเด็ก สำหรับทางเลือกในการดูแลภาวะกระดูกพรุน โดยไม่ต้องใช้ยา คือ การกินอาหารให้ครบหมู่ มีแคลเซียมสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม กุ้งแห้ง ปลาตัวเล็กที่กินได้ทั้งกระดูก ถั่วต่าง ๆ เต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียว เช่น ผักโขม ผักคะน้า ใบชะพลู ใบยอ เป็นต้น ควรลดอาหารที่มีไขมันมาก เนื่องจากไขมันจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมออกกำลังกายชนิดที่มีการลงน้ำหนัก เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ หมั่นรับแสงแดดอ่อนในช่วงเช้า งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ที่สำคัญ ควรสำรวจตนเองหากมีอาการเดินเซ เป็นประจำหรือรับประทานยามากกว่า 4 ชนิด ควรพบแพทย์เพื่อปรับลดยาที่อาจทำให้วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดได้ นอกจากนี้ ควรปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม มีแสงสว่างเพียงพอ ป้องกันการลื่นล้มที่อาจส่งผลให้ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนเกิดความพิการได้

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top