นัดสัมภาษณ์แล้ว ดูน้องตื่นเต้นดีใจอยากได้งาน HR เราก็สบายใจ
แต่พอถึงวันจริง น้องหายไปเฉย ...พี่ทำอะไรผิด น้องถึงเทแบบนี้ !!
เหตุผลที่ผู้สมัครงานเทสัมภาษณ์นั้นมีมากมายค่ะ อาทิ ในโลกออนไลน์ มีการพูดถึงบริษัทในแง่ไม่ดีเท่าไร,ไปสัมภาษณ์งานอื่นที่น่าสนใจกว่า, ติดธุระกะทันหัน, รับนัดแล้วมาดูการเดินทางแล้วเปลี่ยนใจ, หรือแม้แต่ ไม่ได้มีอะไรเลย อยู่ดี ๆ ไม่อยากไปแล้ว ซึ่งประเด็นคือ ส่วนใหญ่อาจไม่โทรยกเลิกสัมภาษณ์ล่วงหน้าด้วยสิ เพราะแต่ละคนก็อาจคิดไปว่า...
พี่ HR นัดไว้หลายคน เราไม่ไปแค่คนเดียวไม่เป็นไรหรอก
เขาเป็น HR มีหน้าที่ต้องหาคนมาแทนอยู่แล้ว
ที่ผ่านมาเห็นนัดทีละหลาย ๆ คน โอกาสคงน้อย
รีวิวแล้ว บ. ของพี่สัมภาษณ์หลายรอบ คงยาก
ผลสัมภาษณ์งาน...พี่ยังปล่อยให้หนูรอเลย !!
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครก็มีเหตุผลเป็นของตัวเองค่ะ จะหาวิธีแก้ มันก็คงยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้
ดังนั้น เรามาหาวิธีป้องกันเพื่อลดโอกาสการเกิดเรื่องนี้กันนะคะ หรือหากเกิดขึ้น ผลกระทบที่ตามมาจะได้ไม่หนักมาก เพราะเราจะมีวิธีรับมือค่ะ มาดูไปพร้อมกันเลยยย
1 การให้ข้อมูลผู้สมัครงานตามความจริงให้ชัดเจน เมื่อโทรนัดสัมภาษณ์ โดยเฉพาะ ชื่อบริษัท ,ชื่อตำแหน่งงาน, ลักษณะงาน, คุณสมบัติผู้สมัคร, เงินเดือน เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือและให้เขาเกิดความมั่นใจด้วยว่า ใบสมัครเขาได้ผ่านการคัดเลือกมาระดับหนึ่งแล้ว และ HR เห็นว่าเหมาะกับงานนี้ ถ้าไปสัมภาษณ์ก็มีโอกาส เพราะถ้าเรื่องนี้เข้าใจไม่ชัดเจน อาจทำให้เขาตัดสินใจเทในภายหลังได้ค่ะ ซึ่ง HR ก็จะได้ Recheck อีกครั้งด้วย ว่าเขาตรงกับงานแค่ไหน เป็นอย่างที่เราสนใจหรือไม่ ถ้าไม่ตรง จะได้ไม่เสียเวลากันค่ะ หรือหากผู้สมัครไม่ถาม ก็ควรบอกเขาให้ละเอียดเลย หรือถ้าเขาถามอะไรเพิ่ม ก็อย่าไปติดลบหรือแสดงความรำคาญไม่พอใจเด็ดขาดเลยนะคะ อาจเป็นเหตุให้เขาเทได้เช่นกัน ความในใจของคนบางทีมันออกมาทางน้ำเสียงซึ่งคนฟังรู้สึกได้ค่ะ
2 นัดสัมภาษณ์ให้เกินจำนวนที่กำหนด (เผื่อคนเทกะทันหัน) พร้อมกับจัดตารางวันนัดสัมภาษณ์เพิ่มเติม แต่ต้องแจ้งต้นสังกัดหรือผู้สัมภาษณ์เพื่อนัดเวลากันให้เรียบร้อยนะคะ เช่น จากเดิมมีตารางสัมภาษณ์เฉพาะวันจันทร์เช้า อาจเพิ่มรอบบ่าย หรือเพิ่มวันพุธเข้ามาด้วย สมมติมีคนเทวันจันทร์ เราก็จะได้มีคนสำรองที่นัดวันพุธในทันที วิธีนี้จะช่วยหาคนมาแทนคนเทได้เร็วที่สุด แต่หากเราไม่ได้นัดเกินไว้ตั้งแต่แรก และเพิ่งมารู้ว่าโดนเทในวันจันทร์กว่าจะหาเรซูเม่และโทรนัดได้ ก็อาจได้สัมภาษณ์วันจันทร์หน้าเลย หรือถ้าผลลัพธ์ที่ออกมาคือ ไม่มีใครเทเลย ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีนะคะ บริษัทจะได้มีคนให้พิจารณามากขึ้น ได้เลือกคนที่พร้อมทำงานที่สุดเข้ามาทำงานด้วย
สำคัญคือ อย่านัดในช่วงเวลาที่ติดต่อกันมาก ๆ เช่น รอคิวสัมภาษณ์ 7-8 คนในเวลาเดียวกัน เพราะจะทำให้ผู้สมัครต้องรอนาน บางคนอาจไม่รอแล้วกลับบ้านไปเลยก็มี อีกอย่าง การที่ผู้สมัครมาเห็นการนัดคนจำนวนมาก มาพร้อมกันแต่รับเพียงคนเดียว ก็จะเกิดความรู้สึกว่าโอกาสมีน้อยและมีการเอาไประบายในโซเชียลอีกด้วย เป็นสาเหตุให้ผู้สมัครรายอื่นเทสัมภาษณ์อีกด้วยค่ะ
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัทด้วยนะคะ ต้องลองดูตามความเหมาะสมของเวลา ว่าจะบริหารจัดการยังไงได้บ้าง แล้วก็พยายามทำความเข้าใจกับหน่วยงานต้นสังกัดด้วย เพื่อให้เขาให้ความร่วมมือกับ HR เพราะต้นสังกัดส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ มักบอกให้นัดมาทีเดียวเยอะๆ ค่ะ
3 การรักษาและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ เพราะเรื่องนี้มีผลในระยะยาว ๆ เลยค่ะ เป็นส่วนที่ผู้สมัครสามารถเห็นได้ในออนไลน์ เช่น สิ่งแวดล้อมภายในบริษัท, พฤติกรรม HR และประชาสัมพันธ์ของบริษัท, การไม่แจ้งผลสัมภาษณ์โดยเงียบหายไปเลย, วัฒนธรรมบริษัท หรืออื่น ๆ ที่บริษัทจะถูกนำไปรีวิวผ่านออนไลน์จากผู้ที่เคยสมัครและสัมภาษณ์ หรือพนักงานเก่าของบริษัท ที่ต้องคิดไว้เสมอคือ การตอบหรือแก้ปัญหาจากการถูกรีวิวแล้วนั้น มักถูกมองว่าเป็นการแก้ตัวเสมอ ดังนั้น การป้องกันไม่ให้ถูกรีวิวจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ
ซึ่งหากการรีวิวเป็นไปในทางที่ดี ก็จะช่วยแก้ปัญหาการเทสัมภาษณ์ได้นะคะ แต่ถ้าเคยเกิดประเด็นที่ไม่ดี ก็ต้องใช้เวลาในการแก้ไข เบื้องต้นต้องทำใจยอมรับไปก่อน เพราะปัจจุบัน ใคร ๆ ก็ต้องค้นหาให้ชัวร์ก่อนค่ะ โดยเฉพาะการเลือกบริษัทเข้าทำงาน
และแม้บริษัทจะมีประวัติไม่ดี เทคนิคทั้งสามข้อ ก็ช่วยได้ไม่น้อยเลยนะคะ ยังไงแล้ว First Impression คือสิ่งสำคัญที่สุด เราต้องเชื่อมั่นด้วยค่ะว่า HR เป็นอย่างไรกับผู้สมัคร ผู้สมัครก็เป็นยังงั้นกับ HR จริงใจไปเขาย่อมจริงใจกลับ แต่ถ้าทำดีที่สุดแล้ว ผลตอบรับมันก็ไม่ได้ดี ก็ถือเป็นโชคดีของเราแล้วนะคะ ที่บุคคลที่ไม่เหมาะสมถูกกรองออกไปตั้งแต่แรกค่ะ
สุดท้ายขอแนะนำว่า ควรเข้าไปตรวจสอบในโลกออนไลน์เสมอด้วยนะคะ มีคนพูดถึงเรายังไงบ้าง ถ้าดีแล้ว ก็นำมาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป ถ้าไม่ดี จะได้ปรับปรุงแก้ไขได้ทันค่ะ
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามได้เลยค่ะ https://www.facebook.com/hrbuddybyjobbkk
ขอบคุณข้อมูล : อาจารย์ พรเทพ พงษ์สง่างาน ที่ปรึกษาอาวุโสด้าน HR และกรรมการ บริษัท เซ็นเมนทอร์ จำกัด ,กรรมการบริหาร APK Management Center
Website : www.senmentor.com
Line : wisebrown
Tel : 081-820-9271
สอบถามเพิ่มเติมสำหรับ HR : 02-514-7474 ต่อ 3
อีเมล : crm@jobbkk.com
Line : @jobbkkvip (อย่าลืมใส่ @)
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved
jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด